ฮาร์ดแวร์

2. ฮาร์ดแวร์

    คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร หมายถึง ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์รอบข้างที่เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่สำคัญคือ หน่วยประมวลผลกลาง หน่วยความจำหลัก หน่วยรับข้อมูล หน่วยแสดงผล และหน่วยเก็บข้อมูลสำรอง

2.1 หน่วยประมวลผลกลาง (CPU: Central Processing Unit)

หน่วยประมวลผลกลาง (Central Processing Unit – CPU) หรืออาจเรียกว่า ไมโครโปรเซสเซอร์ (Microprocessor) หรือชิป (Chip) เป็นหัวใจของคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่ในการคิดคำนวณ ประมวลผล และควบคุมการทำงานของอุปกรณ์อื่นในระบบ ลักษณะของซีพียูจะเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กมาก ภายในประกอบด้วยทรานซิสเตอร์ประกอบกันเป็นวงจรหลายล้านตัว ตัวอย่างเช่น ซีพียูรุ่นเพนเทียมจะมีทรานซิสเตอร์เล็กๆจำนวนมากถึง 3.1 ล้านตัว
            

ซีพียูมีหน่วยที่ใช้ในการบอกขนาดเรียกว่า บิต (Bit) ถ้าจำนวนบิตมากจะสามารถทำงานได้เร็วมากความเร็วของซีพียู (Speed) มีหน่วยวัดเป็น เมกะเฮริตซ์ (MHz = MegaHertz) ถ้าค่าตัวเลขยิ่งสูงแสดงว่ายิ่งมีความเร็วมาก ปัจจุบันความเร็วของซีพียูสามารถทำงานได้ถึงระดับกิกะเฮริตซ์ (GHz = Gigahertz) โดยมีความเร็วระหว่าง 2-3 GHz ในการเลือกใช้ซีพียู ผู้จำหน่ายจะบอกไว้ว่าเครื่องรุ่นนี้มีความเร็วเท่าใด เช่น Pentium IV 2.8 GHz หมายความว่า CPU รุ่นเพนเทียม IV มีความเร็ว 2.8 กิกะเฮิรตซ์

2.1.1 องค์ประกอบของหน่วยประมวลผลกลาง

หน่วยประมวลผลกลาง "ไมโครโปรเซสเซอร์" (Microprocessor) ประกอบด้วยหน่วยสำคัญสองหน่วย คือ หน่วยควบคุม (Control Unit) ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ เปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางระบบประสาท ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องคอมพิวเตอร์ จะรับรู้คำสั่งต่างๆ ในรูปของคำสั่งภาษาเครื่องเท่านั้น
               หน่วยคำนวณและตรรกะ (Arithmetic and Logic Unit) หรือที่เรียกสั้นๆว่า เอแอลยู (ALU)ทำหน้าที่ประมวลผลการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ตลอดจนการเปรียบเทียบทางตรรกะทั้งหมด

     
การทำงานในซีพียูมี รีจิสเตอร์ (Register) คอยทำหน้าที่เก็บและถ่ายทอดข้อมูลหรือคำสั่งที่ถูกนำเข้ามาปฏิบัติการภายในซีพียู รวมทั้งมี บัส (Bus) เป็นเส้นทางในการส่งผ่านสัญญาณไฟฟ้าของหน่วยต่างๆภายในระบบ

2.2 อุปกรณ์นำเข้า (Input devices)

      ทำหน้าที่รับข้อมูลจากผู้ใช้เข้าสู่หน่วยความจำหลัก ที่พบเห็นอยู่ทั่วไปได้แก่

2.2.1 อุปกรณ์แบบกด (Keyed Device)

แป้นพิมพ์ (Keyboard) เป็นหน่วยรับข้อมูลที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในการป้อนข้อมูลสำหรับเทอร์มินัล และไมโครคอมพิวเตอร์ โดยทั่วไปจะมีลักษณะคล้ายแป้นของเครื่องพิมพ์ดีด แต่มีจำนวนแป้นมากกว่า และถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกันคือ
         - แป้นอักขระ (Character Keys) มีลักษณะการจัดวางตัวอักษรเหมือนแป้นบนเครื่องพิมพ์ดีด
         - แป้นควบคุม (Control Keys) เป็นแป้นที่มีหน้าที่สั่งการบางอย่างโดยใช้งานร่วมกับแป้นอื่น
         - แป้นฟังก์ชัน (Function Keys) คือ แป้นที่อยู่แถวบนสุด มีสัญลักษณ์เป็น F1,...F12 ซอฟต์แวร์แต่ละชนิดอาจกำหนดแป้นเหล่านี้ให้มีหน้าที่เฉพาะอย่างแตกต่างกันไป
         - แป้นตัวเลข (Numeric Keys) เป็นแป้นที่แยกจากแป้นอักขระมาอยู่ทางด้านขวา มีลักษณะคล้ายเครื่องคิดเลข ช่วยอำนวยความสะดวกในการบันทึกตัวเลขเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์


นอกจากนี้ ยังมีแป้นพิมพ์บางประเภทที่ออกแบบมาให้ใช้กับงานเฉพาะด้าน เช่น แป้นพิมพ์ที่ใช้ในร้านอาหารแบบเร่งด่วน (fast food restaurant) จะใช้พิมพ์เฉพาะชื่ออาหาร เช่น ถ้าต้องการ french fries ก็กดที่แป้นคำว่า “French fries” ตามด้วยราคาเท่านั้น หรือแป้นพิมพ์ที่ใช้เครื่องฝาก-ถอนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine) เป็นต้น

2.2.2 อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง Pointing Devices


         เมาส์ (Mouse) เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้เลื่อนตัวชี้ตำแหน่ง (Cursor) บนจอภาพ มีหลายขนาดและมี รูปร่างต่างกันไป แต่ที่นิยมใช้จะมีขนาดเท่าฝ่ามือ มีลูกกลมกลิ้งอยู่ด้านล่าง หรือเป็นระบบแสง ส่วนด้านบนจะมีปุ่มให้กดจำนวนสอง สาม หรือสี่ปุ่ม แต่ที่นิยมใช้กันมากคือ สองปุ่ม ใช้ส่งข้อมูลเข้าสู่หน่วยความจำหลักโดยการเลื่อนเมาส์ให้ลูกกลมด้านล่างหมุน เพื่อเป็นการเลื่อนตัวชี้ตำแหน่งบนจอภาพไปยังตำแหน่งที่ต้องการทำให้การโต้ตอบระหว่างผู้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ทำได้รวดเร็วกว่าแป้นพิมพ์ ผู้ใช้อาจใช้เมาส์วาดรูป เลือกทาง เลือกจากเมนู และเปลี่ยนแปลงหรือย้ายข้อความ ปัจจุบันเมาส์ได้มีการพัฒนาเป็นแบบเมาส์ไร้สาย อย่างไรก็ดี เมาส์ยังไม่สามารถใช้ในการป้อนตัวอักษรได้ จึงยังคงต้องใช้คู่กับแป้นพิมพ์ในกรณีที่มีการพิมพ์ ตัวอักษร แต่สำหรับผู้ที่เริ่มต้นใช้คอมพิวเตอร์ การใช้เมาส์เพียงอย่างเดียวจะทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยกว่าการใช้แป้นพิมพ์

               
ลูกกลมควบคุม (Trackball) เป็นอุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง โดยจะเป็นลูกบอลเล็กๆซึ่งอาจวางอยู่หน้าจอภาพในเนื้อที่ของแป้นพิมพ์ หรือเป็นอุปกรณ์ต่างหากเช่นเดียวกับเมาส์ เมื่อผู้ใช้หมุนลูกบอลก็จะเป็นการเลื่อนตำแหน่งของตัวชี้ตำแหน่งบนจอภาพ มีหลักการทำงานเช่นเดียวกับเมาส์
              
แท่งชี้ควบคุม (Track Point) เป็นอุปกรณ์ชี้ตำแหน่งขนาดเล็ก นิยมใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาจะเป็นแท่งพลาสติกเล็กๆ อยู่ตรงกลางแป้นพิมพ์ บังคับโดยใช้นิ้วหัวแม่มือเพื่อเลื่อนตำแหน่งของตัวชี้ตำแหน่งบนจอภาพเช่นเดียวกับเมาส์
                    แผ่นรองสัมผัส จะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมที่วางอยู่หน้าแป้นพิมพ์ สามารถใช้นิ้ววาดเพื่อเลื่อนตำแหน่งของตัวชี้ตำแหน่งบนจอภาพเช่นเดียวกับเมาส์

               
จอยสติก (Joy stick) จะเป็นก้านสำหรับใช้โยกขึ้นลง/ซ้ายขวา เพื่อย้ายตำแหน่งของตัวชี้ตำแหน่งบนจอภาพ มีหลักการทำงานเช่นเดียวกับเมาส์ แต่จะมีแป้นกดเพิ่มเติมมาจำนวนหนึ่งสำหรับสั่งงานพิเศษ นิยมใช้กับการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์หรือควบคุมหุ่นยนต์



2.2.3 จอภาพระบบไวต่อการสัมผัส
         จอภาพระบบสัมผัส (Touch screen) เป็นจอภาพแบบพิเศษซึ่งผู้ใช้เพียงแตะปลายนิ้วลงบนจอภาพในตำแหน่งที่กำหนดไว้ เพื่อเลือกการทำงานที่ต้องการ นิยมใช้กับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้ผู้ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่คล่องนักสามารถเลือกข้อมูลที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จะพบการใช้งานมากในร้านอาหารแบบเร่งด่วน หรือใช้แสดงข้อมูลการท่องเที่ยว เป็นต้น


2.2.4 ระบบปากกา (Pen-Based System)

         ปากกาแสง (Light Pen) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สัมผัสกับจอภาพเพื่อชี้ตำแหน่งและวาดข้อมูล โดยใช้เซลล์ แบบ photoelectric ซึ่งมีความไวต่อแสงเป็นตัวกำหนดตำแหน่งบนจอภาพ รวมทั้งสามารถใช้วาดลักษณะหรือรูปแบบของข้อมูลให้ปรากฏบนจอภาพ การใช้งานทำได้โดยการแตะปากกาแสงไปบนจอภาพตามตำแหน่งที่ต้องการนิยมใช้กับงานคอมพิวเตอร์ช่วยการออกแบบ (CAD หรือ Computer Aided Design) รวมทั้งนิยมใช้เป็นอุปกรณ์ป้อนข้อมูลโดยการเขียนด้วยมือในคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เช่น PDA เป็นต้น

               

2.2.5 อุปกรณ์กวาดข้อมูล (Data Scanning Devices)

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ ระบบการวิเคราะห์แสง (Optical recognition Systems) ช่วยให้มีการพิมพ์ข้อมูลเข้าน้อยที่สุด โดยจะอ่านข้อมูลเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยการใช้ลำแสงกวาดผ่านข้อความ หรือสัญลักษณ์ต่างๆที่พิมพ์ไว้ เพื่อนำไปแยกแยะรูปแบบต่อไป ในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ในงานต่างๆกันมาก โดยมีอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยม คือ
         เครื่องอ่านรหัสบาร์โคด (Bar Code Reader) เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายปากกาแสง ใช้ฉายแสงลงไปที่รหัสแท่งที่ต้องการอ่าน ซึ่งรหัสสินค้าต่างๆจะอยู่ในรูปของแถบสีดำและขาวต่อเนื่องกันไป เรียกว่ารหัสบาร์โคด เครื่องอ่านรหัสบาร์โคดจะอ่านข้อมูลบนแถบบาร์โคด เพื่อเรียกข้อมูลจากรายการสินค้านั้น เช่นราคาสินค้า จำนวนที่เหลืออยู่ในคลังสินค้า เป็นต้น ออกมาจากฐานข้อมูล แล้วจึงทำการประมวลผลข้อมูลรายการนั้น ในปัจจุบัน บาร์โคคได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องทำการพิมพ์ข้อมูลเข้าด้วยแป้นพิมพ์ จึงลดความผิดพลาดของข้อมูลและประหยัดเวลาได้มาก ระบบบาร์โคดเป็นสิ่งที่ผู้ใช้จะพบเห็นในชีวิตประจำวันได้บ่อยที่สุด เช่น ในห้างสรรพสินค้า ร้านขายหนังสือ และห้องสมุด เป็นต้น

               
สแกนเนอร์ (Scanner) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้อ่านหรือสแกน (Scan) ข้อมูลบนเอกสารเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้วิธีส่องแสงไปยังวัตถุที่ต้องการ แสงที่ส่องไปยังวัตถุแล้วสะท้อนกลับมาจะถูกส่งผ่านไปที่ เซลล์ไวแสง (Charge-Coupled Device หรือ CCD) ซึ่งจะทำการตรวจจับความเข้มของแสงที่สะท้อนออกมาจากวัตถุและแปลงให้อยู่ในรูปของข้อมูลทางดิจิตอล เอกสารที่อ่านอาจจะประกอบด้วยข้อความหรือรูปภาพกราฟิกก็ได้
               
         กล้องถ่ายภาพดิจิตอล (Digital camera) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับถ่ายภาพแบบไม่ต้องใช้ฟิล์ม โดยเก็บภาพที่ถ่ายไว้ในลักษณะดิจิตอลด้วยอุปกรณ์ CCD (Charge Coupled Device) ภาพที่ได้จะประกอบด้วยจุดเล็กๆ จำนวนมาก และสามารถนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์สแกนเนอร์อีกเป็นอุปกรณ์ที่เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่ต้องใช้ฟิล์มในการถ่ายภาพและสามารถดูผลลัพธ์ได้จากจอที่ติดอยู่กับกล้องได้ในทันที

                         
กล้องถ่ายทอดวีดีโอดิจิตอล (Digital Video) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับบันทึกภาพเคลื่อนไหว และเก็บเป็นข้อมูลแบบดิจิตอล นิยมใช้ในการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ (Video conference) ซึ่งเป็นการประชุมแบบกลุ่มผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น ผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น อย่างไรก็ดีกล้องถ่ายทอดวีดีโอแบบดิจิตอลยังอยู่

               

2.3 อุปกรณ์แสดงผล (Output devices)


      หมายถึง การแสดงผลออกมาให้ผู้ใช้ได้รับทราบในขณะนั้น แต่เมื่อเลิกการทำงานหรือเลิกใช้แล้วผลนั้นก็จะหายไป ไม่เหลือเป็นวัตถุให้เก็บได้ แต่ถ้าต้องการเก็บผลลัพธ์นั้นก็สามารถส่งถ่ายไปเก็บในรูปของข้อมูลในหน่วยเก็บข้อมูลสำรอง เพื่อให้สามารถใช้งานในภายหลัง หน่วยแสดงผลที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ คือ
2.3.1 หน่วยแสดงผลชั่วคราว

หมายถึง การแสดงผลออกมาให้ผู้ใช้ได้รับทราบในขณะนั้น แต่เมื่อเลิกการทำงานหรือเลิกใช้แล้วผลนั้นก็จะหายไป ไม่เหลือเป็นวัตถุให้เก็บได้ แต่ถ้าต้องการเก็บผลลัพธ์นั้นก็สามารถส่งถ่ายไปเก็บในรูปของข้อมูลในหน่วยเก็บข้อมูลสำรอง เพื่อให้สามารถใช้งานในภายหลัง หน่วยแสดงผลที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ คือ
         จอภาพ (Monitor) ใช้แสดงข้อมูลหรือผลลัพธ์ให้ผู้ใช้เห็นได้ทันที มีรูปร่างคล้ายจอภาพของโทรทัศน์บนจอภาพประกอบด้วยจุดจำนวนมากมาย เรียกจุดเหล่านั้นว่า จุดภาพ (pixel) ถ้ามีจุดภาพจำนวนมากก็จะทำให้ ผู้ใช้มองเห็นภาพบนจอได้ชัดเจนมากขึ้น จอภาพที่ใช้ในปัจจุบันแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ

                    

                    - จอซีอาร์ที (Cathode Ray Tube) นิยมใช้กับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ส่วนมากในปัจจุบันใช้หลักการยิงแสงผ่านหลอดภาพคล้ายกับโทรทัศน์
                    - จอภาพแอลซีดี (Liquid Crystal Display) เป็นจอภาพที่มีลักษณะบาง น้ำหนักเบาและกินไฟน้อย แต่มีราคาสูง เทคโนโลยีจอแอลซีดีในปัจจุบันจะมีสองแบบคือ Passive Matrix ซึ่งมีราคาต่ำแต่ขาดความคมชัดและอาจมองไม่เห็นภาพเมื่อผู้ใช้มองจากบางมุม ส่วน Active Matrix หรือบางครั้งอาจเรียกว่าThin Film Transistor (TFT) จะให้ภาพที่คมชัดกว่าแต่จะมีราคาสูงกว่ามาก ในส่วนความละเอียดของจอภาพ ปัจจุบัน นิยมใช้จอภาพชนิดสีแบบ Super Video Graphic Adapter หรือเรียกสั้นๆว่า ซูเปอร์วีจีเอ (Super VGA) ซึ่งมีความละเอียด 800x600 จุดภาพ สำหรับจอภาพที่มีความละเอียดต่ำ (low resolution) ส่วนจอภาพที่มีความละเอียดสูง จะนิยมใช้ความละเอียดที่ 1024x768, 1280x1024 หรือ 1600x1200 จุดภาพ (pixel) ซึ่งจะให้ความคมชัดที่สูงมาก

          
         ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาพดูคมชัดมากขึ้นถึงแม้ว่าจะมีจำนวนจุดภาพเท่ากัน ก็คือ ระยะห่างระหว่างจุดภาพ (dot pitch) โดยระยะห่างระหว่างจุดภาพน้อยก็จะให้ความละเอียดได้มากกว่า จอภาพที่มีขายในท้องตลาดปัจจุบันมีระยะห่างระหว่างจุดภาพอยู่ระหว่าง 0.25-0.28 หน่วย ซึ่งระยะห่างระหว่างจุดภาพนี้เป็นสิ่งที่ติดมากับเครื่องไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในส่วนของจำนวนสีนั้น ณ ขณะใดขณะหนึ่งแต่ละจุดภาพจะแสดงสีได้เพียงสีเดียวเท่านั้น ซึ่งสีต่างๆ จะถูก
แทนด้วยตัวเลข ดังนั้น ถ้าจอภาพแสดงได้ 16 สี เลขเหล่านั้นก็จะแทนด้วย 4 บิต ถ้าต้องการแสดงถึง 256 สี ก็จะต้องใช้ 8 บิตแทนรหัสสีนั้นๆ

          การ์ดวิดีโอ (Video Card) การต่อจอภาพเข้ากับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องมีแผงวงจรกราฟิก (Graphic Adapter Board) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การ์ดวีดีโอ (video card) ซึ่งจอภาพแต่ละชนิดต้องการแผงวงจรที่ต่างกัน แผงวงจรกราฟิกจะถูกเสียบเข้ากับ ช่องขยายเพิ่มเติม (expansion slot) ในคอมพิวเตอร์แผงวงจรกราฟิกมักจะมีหน่วยความจำเฉพาะที่เรียกว่า หน่วยความจำวีดีโอ (video memory) เพื่อให้ใช้โปรแกรมด้านกราฟิกได้สวยงามและรวดเร็ว ซึ่งหน่วยความจำนี้อาจใช้แรมธรรมดาหรือแรมแบบพิเศษต่างๆ เพื่อให้
สามารถทำงานได้เร็วขึ้น เช่น วีดีโอแรม (video RAM) ซึ่งบางครั้งเรียกว่า วีแรม (VRAM) เป็นต้น
              

          ปัจจัยประการหนึ่งที่ผู้ใช้จอภาพต้องคำนึง คือ อัตราการเปลี่ยนภาพ (refresh rate) ของการ์ดวีดีโอโดยภาพที่แสดงบนจอภาพแต่ละภาพนั้นจะถูกลบและแสดงภาพใหม่เริ่มจากบนลงล่าง หากอัตราการเปลี่ยนภาพในแนวดิ่ง (Vertical-refresh rate) เป็น 60 ครั้งต่อวินาที หรือ 60 Hz จะเกิดการกระพริบทำให้ผู้ใช้ปวดศีรษะได้มีผู้วิจัยพบว่า อัตราเปลี่ยนภาพในแนวดิ่งไม่ควรต่ำกว่า 70 Hz จึงจะไม่เกิดการกระพริบ และทำให้ผู้ใช้ดูจอภาพได้อย่างสบายตา นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์สำหรับถอดรหัสภาพแบบ MPEG (Motion Picture Experts) ซึ่งอาจอยู่ในรูปของซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์ที่ติดอยู่บนการ์ดวีดีโอ อันจะทำให้สามารถแสดงภาพเคลื่อนไหว เช่น ภาพยนตร์ต่างๆ บนจอคอมพิวเตอร์ได้อย่างต่อเนื่อง

          อุปกรณ์เสียง (Audio Output) คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ มักจะมีหน่วยแสดงเสียง ซึ่งประกอบด้วย ลำโพง(speaker) และ การ์ดเสียง (sound card) เพื่อให้ผู้ใช้สามารถฟังเพลงในขณะทำงาน หรือให้เครื่องคอมพิวเตอร์รายงานเป็นเสียงให้ทราบเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ เช่น ไม่มีกระดาษในเครื่องพิมพ์ เป็นต้น รวมทั้งสามารถเล่นเกมส์ที่มีเสียงประกอบได้อย่างสนุกสนาน โดยลำโพงจะมีหน้าที่ในการแปลงสัญญาณจากคอมพิวเตอร์ให้เป็นเสียงเช่นเดียวกับลำโพงวิทยุ ส่วนการ์ดเสียงจะเป็นแผงวงจรเพิ่มเติมที่นำมาเสียงกับช่องเสียบขยายในเมนบอร์ด เพื่อช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถส่งสัญญาณเสียงผ่านลำโพง รวมทั้งสามารถต่อไมโครโฟนเข้ามาที่การ์ดเพื่อบันทึกเสียงเก็บไว้ด้วย
                    

2.3.2 หน่วยแสดงผลถาวร

         หมายถึง การแสดงผลที่สามารถจับต้องและเคลื่อนย้ายได้ตามต้องการมักจะออกมาในรูปของกระดาษเช่น เครื่องพิมพ์ (Printer) เป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้กันมาก มีให้เลือกหลายชนิดขึ้นอยู่กับคุณภาพของตัวอักษร ความเร็วในการพิมพ์ และเทคโนโลยีที่ใช้งาน เครื่องพิมพ์สามารถแบ่งตามวิธีการพิมพ์ได้ 2 ชนิด คือ
         
เครื่องพิมพ์แบบกระทบหรือตอก (Impact printer) เป็นการใช้หัวเข็มตอกให้คาร์บอนบนผ้าหมึกติดบนกระดาษตามรูปแบบที่ต้องการ สามารถพิมพ์ครั้งละหลายชุดโดยใช้กระดาษคาร์บอนวางระหว่างกระดาษแต่ละแผ่นได้ ส่วนข้อเสียของเครื่องพิมพ์ชนิดนี้ คือ มีเสียงดังและคุณภาพงานพิมพ์ไม่ดีนัก

         
         
เครื่องพิมพ์แบบไม่กระทบหรือไม่ตอก (Nonimpact printer) เป็นการพิมพ์โดยใช้หมึกพ่นไปบนกระดาษหรือใช้ความร้อนและความดันเพื่อละลายหมึกให้เป็นลักษณะของอักขระ เป็นการพิมพ์ที่เร็วและคมชัดกว่าแบบกระทบ และพิมพ์ได้ทั้งตัวอักษรและภาพกราฟิก รวมทั้งไม่มีเสียงขณะพิมพ์ แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถพิมพ์กระดาษแบบสำเนา (copy) ได้

               

         เครื่องพิมพ์เลเซอร์ (Laser printer) ทำงานคล้ายกับเครื่องถ่ายเอกสาร คือ มีแสงเลเซอร์สร้างประจุไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลให้โทนเนอร์ (toner) สร้างภาพที่ต้องการและพิมพ์ภาพนั้นลงบนกระดาษ เครื่องพิมพ์เลเซอร์จะมีรุ่นต่างๆที่แตกต่างกันในด้านความเร็ว และความละเอียดของงานพิมพ์ ในปัจจุบันสามารถพิมพ์ได้ละเอียดสูงสุดถึง 1200 จุดต่อนิ้ว (dot per inch หรือ dpi)

               

         เครื่องพิมพ์พ่นหมึก (Inkjet printer) นิยมใช้กับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ ส่วนมากจะพิมพ์สีได้ ถึงแม้จะไม่คมชัดเท่าเครื่องพิมพ์ชนิดเลเซอร์ แต่ก็คมชัดกว่าเครื่องพิมพ์ชนิดตอก และมีราคาถูกกว่าเครื่องพิมพ์ชนิดเลเซอร์ นิยมนำมาใช้งานตามบ้านอย่างมาก

               

         เครื่องพลอตเตอร์ (Plotter) ใช้วาดหรือเขียนภาพสำหรับงานที่ต้องการความละเอียดสูงๆ นิยมใช้กับงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม มีให้เลือกหลายชนิดโดยจะแตกต่างกันในด้านความเร็ว ขนาดกระดาษ และจำนวนปากกาที่ใช้เขียนในแต่ละครั้ง มีราคาแพงกว่าเครื่องพิมพ์ธรรมดา

          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น